สนุกกับการอาบน้ำให้หมา

ควรอาบน้ำให้สุนัข เมื่อสุนัขเริ่มสกปรก และมีกลิ่น บ้านเราเป็นเมืองร้อน การอาบน้ำอาจจะทำได้ถี่กว่าสุนัขที่อยู่ในเมืองหนาว อาจจะเดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้งก็ได้ ขึ้นกับสุนัขของคุณว่า มอมแมมง่ายแค่ไหน ควรอาบน้ำให้สุนัขตอนเช้าๆ ที่แดดไม่ร้อนจนเกินไป ขนจะได้แห้งง่าย หลีกเลี่ยงการอาบน้ำสุนัขตอนกลางคืน เพราะจะทำให้สุนัขเป็นหวัดได้ โดยเฉพาะสุนัขที่มีขนยาว ต่อไปนี้เป็นเทคนิคการอาบน้ำสุนัข

ถ้าสุนัขคุณเป็นสุนัขตัวเล็กๆ อาจให้อาบในกะละมัง (คล้ายกะละมังอาบน้ำเด็ก) แล้วใช้ขันใบเล็กๆ ตักน้ำราด แต่ถ้าเป็นสุนัขตัวใหญ่อาจผูกไว้กับหลัก (เช่น รั้วบ้าน) แล้วใช้สายยางรด ควรเริ่มราดน้ำจากด้านหลังสุนัข ด้านข้าง ขา ใต้ท้อง ก้น อย่าราดน้ำที่หัวของสุนัขโดยตรง เพราะสุนัขจะสะบัดน้ำทันที เมื่อหัวเปียกน้ำ ให้ค่อยๆ วักน้ำ ลูบที่หัว และหน้า และให้โอกาสมันสะบัดน้ำก่อน จะเทแชมพู

แชมพูที่ใช้ อาจใช้แชมพูสำหรับเด็ก หรือแชมพูสำหรับสุนัขก็ได้ การฟอกแชมพูควรเริ่มในลักษณะเดียวกับการราดน้ำ คือ เริ่มจากหลังก่อน ด้านข้าง แล้วย้ายมาที่ขา ใต้ท้อง ก้น หาง คอ และหน้า (ที่หน้าอาจฟอกเฉพาะบริเวณหัว บริเวณอื่นๆ ใช้น้ำลูบก็พอ)

ล้างแชมพูออก โดยเริ่มจากที่หลังก่อน แล้วไล่ไปเรื่อยๆ จบที่หน้า
เช็ดขนให้หมาดด้วยผ้าเช็ดตัว ถ้าสุนัขขนยาวอาจใช้ดรายเป่าผม เป่าให้ขนแห้ง สำหรับสุนัขที่ไม่คุ้นกับเสียงดรายเป่าผม ควรเริ่มเป่าจากด้านหน้าสุนัขก่อน เพื่อให้สุนัขทำความรู้จักกับดรายก่อน สุนัขจะได้ไม่ตกใจ เมื่อขนแห้งแล้ว ค่อยแปรงขนให้เรียบ (ขั้นตอนการแปรงขนต้องใจเย็นหน่อย ไม่งั้นสุนัขจะทำตาขวางใส่ ไม่ก็หนีสุดชีวิต ทำเอาเหนื่อยเชียวล่ะ) ถ้าเป็นสุนัขขนสั้น อาจมัดให้ตากแดดอ่อนๆ จนขนแห้ง ก็เป็นอันเสร็จ

การแปรงขน
การแปรงขนให้สุนัขเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์ขนยาวหรือพันธุ์ขนสั้น เพื่อไม่ให้ขนเกาะติดกันเป็นสังกะตัง เพราะจะทำให้เป็นโรคผิวหนังอักเสบได้
สุนัขขนยาวควรทำการแปรงขน ให้อย่างน้อยวันละครั้ง ส่วนสุนัขขนสั้น ควรแปรงขนให้อย่างน้อย วันละครั้ง ส่วนสุนัขขนสั้นควรแปรงขนให้อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง การแปรงขนให้แปรงตามแนวเส้นขนและแปรงลึกลงไปถึงข้างในโคนขน เพื่อให้ขนฟูสวย

อุปกรณ์ที่ใช้ในการแปรงขน คือหวีหรือแปรงซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน จึงต้องเลือกชนิดที่เหมาะสมกับขนของสุนัข เช่น หวีซี่ถี่ใช้กับสุนัขขนสั้น หวีซี่หยาบขนแข็งใช้กับสุนัขขนยาว สุนัขที่มีขนติดพันกันยุ่งควรใช้หวีซี่ห่าง ๆ

การตัดเล็บ
อันนี้ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษหน่อย ถ้าคุณไม่เคยตัดเล็บให้สุนัขมาก่อน อาจให้ช่างเสริมสวย (สุนัข) ตัดให้ดูก่อน แล้วค่อยลองตัดเอง การตัดเล็บให้สุนัข ควรใช้ที่ตัดเล็บสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ ไม่ควรใช้ที่ตัดเล็บของมนุษย์ เพราะโครงสร้าง เล็บของมนุษย์และสุนัขไม่เหมือนกัน การตัดควรตัดให้ห่างจากบริเวณเนื้อสีชมพู ใต้เล็บประมาณ 2 มิลลิเมตร ถ้าไม่แน่ใจอาจตัดให้ห่างกว่านี้ก็ได้

การตัดหาง
สุนัขบางตัวนิยมตัดหางให้เหลือความยาวตามที่นิยมในสุนัขพันธุ์นั้นๆ การตัดหางควรทำ เมื่อสุนัขอายุน้อย ๆ ประมาณ 3-7 วันหลังคลอดจะได้ไม่มีเลือดออกมาก การตัดหางทำโดยโกนขนบริเวณหางที่จะทำการตัดออกให้หมด เช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ไอโอดีนให้ทั่ว ดึงหางไปทางโคนหาง เพื่อให้หนังกลับมาหุ้มรอยตัดได้มิดชิด ทำการรัดด้วยเชือก หรือยางรัดตรงระหว่างข้อของกระดูกโคนหางในตำแหน่งที่ต้องการตัด จากนั้นแต้มด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน ทิ้งไว้ประมาณ 2-5 ชั่วโมง แล้วเอาเชือกหรือยางรัดออก ผิวหนังของหางที่รูดขึ้นไปจะรูดลงมาปิดแผล หรือจะทำการเย็บก็ได้ เกณฑ์หารตัดหางสุนัขของอเมริกาได้กำหนดไว้ดังตารางข้างล่าง

พันธุ์ ความยางของหางที่เหลือเมื่ออายุไม่เกิน 7 วัน
โดเบอร์แมน 3/4 นิ้ว (2 ข้อกระดูกหาง)
ร็อตไวเลอร์ ชิดตัวมากที่สุด (1 ข้อกระดูกหาง)
บ๊อกเซอร์ 1/2 - 3/4 นิ้ว
พุดเดิล(มาตราฐาน) 1 ใน 2 -2ใน3 (ประมาณ 1เศษ 1/2 นิ้ว)
พุดเดิล (มินิเจอร์) 1 ใน 2 -2ใน3 (ประมาณ 1 1/8 นิ้ว)
พุดเดิล (ทอย) 1 ใน 2 -2 ใน 3 (ประมาณ 1 นิ้ว)
มินิเจอร์พินส์เชอร์ 1/2 นิ้ว ( 2 ข้อกระดูกหาง)
ยอร์คเชียร์เทอร์เรีย 1 ใน 3 (ประมาณ 1/2 นิ้ว)
ค็อกเกอร์ สแปเนียล 1 ใน 3 (ประมาณ 3/4 นิ้ว)
ไวเมอร์แรนเนอร์ 3 ใน 5 (ประมาณ 1เศษ 1/2 นิ้ว)
พอยต์เตอร์ 2 ใน 5

การตัดหู
สุนัขบางพันธุ์นิยมตัดหูตามแฟชั่นของพันธุ์นั้น ๆ เช่น โดเบอร์แมน บ๊อกเซอร์ มินิเจอร์พินส์เชอร์ และเกรตเดน ควรทำการตัดเมื่อสุนัขอายุระหว่าง 12-14 สัปดาห์ เพราะมีขนาดโตพอที่จะทำการผ่าตัดได้ง่าย ไม่เล็กเกินไป และสามารถทนต่อการวางยาสลบได้ หลังตากตัดหูแล้วต้องดามหูไว้ จนกว่าจะตั้งตรงตามต้องการซึ่งกินเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของสุนัขและการดูแลของเจ้าของ

การตัดนิ้วติ่ง
โดยปกติสุนัขจะมีนิ้วเท้าอยู่ 18 นิ้ว โดยขาคู่หน้าจะมี 10 นิ้ว ขาคู่หลังมี 8 นิ้ว นิ้วขาหน้าที่มีเกินกว่านิ้วขาหลังนี้เรียกว่านิ้วติ่ง จะอยู่สูงกว่าระดังพื้นดินขึ้นมาทางด้านหลังของขาหน้านิ้วติ่งของขาคู่หน้านี้ จัดเป็นลักษณะปกติ แต่ถ้าสุนัขตัวไหนมีนิ้วติ่งอยู่ที่ขาหลัง ถือว่าเป็นลักษณะที่ผิดปกติ จะทำการตัดออกเพื่อความสวยงามและความนิยม การตัดนิ้วติ่งจะทำเมื่อลูกสุนัขคลอดออกมาใหม่หรืออายุ 48-72 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 7 วัน เพื่อจะได้ทำง่าย ไม่มีเลือดออกมา และแผลหายเร็ว โดยใช้กรรไกรที่ฆ่าเชื้อแล้วตัดคีบนิ้วติ่งให้ใกล้ผิวหนังมากที่สุด แล้วแต้มด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน

การตัดแต่งขน
การตัดแต่งขนเป็นการเสริมสวยให้สุนัขตามแฟชั่น เพื่อความสะอาด และสวยงามอยู่เสมอสุนัขขนยาวทุกพันธุ์ ควรได้รับการตกแต่งขน เช่น พุดเดิล ค๊อกเกอร์ เทอร์เรีย เป็นต้น ผู้เลี้ยงสุนัขจำเป็นต้องตัดแต่งขนสุนัขให้ถูกต้องตามลักษณะนิยมด้วย และสุนัขบางพันธุ์ที่มีขนยาวมาก เมื่อนำมาเลี้ยงในประเทศไทยควรได้รับการซอยขนให้สั้น เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายจากความร้อนของอากาศ
คอยสังเกตอาการผิดปกติของสุนัข

การอาบน้ำ ตัดขน ตัดเล็บนี้ ถือเป็นการดูแลสุนัขเบื้องต้นที่ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังมีอีกหน้าที่หนึ่งที่เจ้าของสุนัขพึงกระทำ คือ การสังเกตดูสุนัขว่า มีอาการผิดปกติหรือไม่ ต่อไปนี้เป็นอาการผิดปกติเบื้องต้น ที่อาจหาทางป้องกันได้ ถ้ารู้แต่เนิ่นๆ แต่ถ้าทำตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว สุนัขไม่ดีขึ้น ควรรีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์
โรคเกี่ยวกับปาก
สุนัขของคุณอาจมีปัญหาเกี่ยวกับปาก ถ้าสุนัขมีอาการต่อไปนี้ น้ำลายไหล ตะกุยปากบ่อยๆ ทำท่าเคี้ยวอยู่ตลอดเวลา เคี้ยวอาหารช้าลง ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

เพื่อหลีกเลี่ยงอาการผิดปกติเหล่านี้ คุณอาจต้องคอยเปิดปากสุนัขสำรวจหาสิ่งผิดปกติ และแปรงฟันให้สุนัขอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง โดยใช้แปรงสีฟันนุ่มๆ (แปรงสีฟันเก่าๆ ที่ไม่ใช้แล้วก็ได้) จุ่มน้ำเกลือแปรงให้กับสุนัข หรืออาจใช้ยาสีฟันสำหรับสุนัขโดยเฉพาะก็ได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันทาร์ทาร์ ซึ่งเป็นสารสีเหลืองๆ ที่มักเกาะอยู่บนฟันของสุนัข โดยมันจะเป็นตัวการทำให้เกิดโรคเหงือก ก่อให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียทำลายฟัน และยังทำให้ปากเหม็นอีกด้วย แต่ถ้าพบสิ่งผิดปกติติดฟันสุนัข ให้ใช้ด้ามช้อนเล็กๆ แซะออก หรือจะใช้คีมหนีบออกก็ได้

ถ้าสุนัขมีเหงือกบวมแดงบริเวณรอยต่อของเหงือกกับฟัน เมื่อเคาะฟันเบาๆ จะพบว่า ฟันเริ่มโยก แสดงว่า สุนัขเริ่มเป็นโรคเหงือกอักเสบ ให้ใช้น้ำเกลืออุ่นๆ ล้างปากให้สุนัขบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้นำไปพบสัตวแพทย์

ในกรณีที่สุนัขมีคราบทาร์ทาร์มากๆ อาจต้องพึ่งสัตวแพทย์ โดยแพทย์จะวางยาสลบให้สุนัข และใช้เครื่องมือกำจัดคราบออก ถอนฟันที่เสียแล้วทิ้ง เพื่อไม่ให้รากฟันอักเสบ และติดเชื้อในช่องปาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคไซนัส เลือดเป็นพิษ หรือแม้กระทั่งโรคไต !!

นอกจากนี้ อาการผิดปกติข้างต้น ยังอาจเกิดจากปากเป็นแผล มีหนอง เนื้องอก และทอนซิลอักเสบ ซึ่งในกรณีนี้ต้องให้สัตวแพทย์เป็นผู้วินิจฉัย และรักษา

โรคเกี่ยวกับตา
ถ้าสุนัขเอาเท้าเขี่ยตาบ่อยๆ ให้สังเกตตาสุนัขว่า มีน้ำตา ขี้ตา หรือมีแผ่นฟิล์มบางๆ เคลือบตา อยู่หรือไม่ ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อย อาจใช้น้ำยาล้างตาของมนุษย์ล้างให้ทุก 2-3 ช.ม. หรืออาจใช้ยาฆ่าเชื้อแบบครีมป้ายใต้ตาก็ได้ ในการหยอดตาสุนัขเพื่อความปลอดภัย ควรถือที่หยอดตาให้ขนานกับตาสุนัข

ในสุนัขที่ยังอายุไม่มาก การเกิดขี้ตาเป็นจำนวนมาก อาจหมายถึงการติดเชื้อไวรัสที่ตา ส่วนการมีน้ำตาไหลในตาข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง อาจเกิดจากท่อน้ำตาอุดตัน ขณะที่ฟิล์มบางที่เคลือบตาอยู่ อาจเกิดจากการอักเสบของกระจกตา ถ้าหากหยอดตา 1 วันแล้ว อาการต่างๆ ยังไม่หายไป ควรนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์

โรคหวัด
ถ้าจมูกสุนัขคุณแห้ง แตก ไม่ชื้นเหมือนที่เคยเป็น และมีอาการอื่นที่คล้ายๆ คนเป็นหวัด แสดงว่า สุนัขอาจเป็นหวัด วิธีบรรเทาอาการขั้นต้น คือ อาบน้ำอุ่นๆ ให้กับสุนัข แล้วรีบเช็ดตัวให้แห้ง หลังจากนั้นให้ทาใต้จมูกด้วยขี้ผึ้งป้องกันหวัด ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรปรึกษาสัตวแพทย์

โรคหู
อาการผิดปกติเกี่ยวกับหู ที่สุนัขมักแสดงออก คือ การสั่นหัวไปมา การเกาหู ลมหายใจเหม็น มีขี้หูมากผิดปกติ การเอียงหัวไปข้างใดข้างหนึ่ง และการที่สุนัขแสดงอาการเจ็บ หรือไม่สบายเมื่อโดนสัมผัสหู

เมื่อพบอาการผิดปกติดังกล่าว ให้รีบใช้น้ำมันเกลือแร่กรอกใส่หูสุนัข ไม่ควรใช้ยาผงฆ่าเชื้อ เพราะจะไปหมักหมมในช่องหู อาจทำให้หูระคายเคืองยิ่งกว่าเดิม
ถ้าสุนัขของคุณมีแนวโน้มที่จะเกิดหูอักเสบ ควรทำความสะอาดหูให้สัปดาห์ละครั้ง โดยใช้คอตตอนบัดชุปน้ำมันมะกอก เช็ดภายในช่องหูที่คุณมองเห็นได้ เพื่อขจัดสิ่งสกปรกภายในช่องหู สำหรับสุนัขที่มีขนปุกปุยบริเวณใบหู เช่น พูเดิล หรือ เคอรี่ บลู อาจจำเป็นต้องถอนขนบริเวณใบหูออกบ้าง

การอักเสบของหูอาจเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในช่องหู เช่น เมล็ดหญ้า ซึ่งจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เอาออก บางครั้งอาจเกิดจากตัวไรเข้าไปอาศัยในช่องหู ทำให้เกิดอาการคัน และนำไปสู่การติดเชื้อในที่สุด นอกจากนี้ สำหรับสุนัขพันธ์ที่มี หูขนาดใหญ่ ทำให้ระบายอากาศไม่ดี เช่น สเปเนี่ยน การอักเสบของหูยังอาจเกิดจาก เหงื่อ ความสกปรก ที่หมักหมมในช่องหู ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้เร็วกว่าสุนัขทั่วๆ ไป ซึ่งอาการผิดปกติเหล่านี้ สัตวแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเกิดจากเชื้ออะไร และให้ยาที่ถูกต้องกับโรค การรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำให้โรคที่เป็นหายง่ายกว่า การปล่อยให้เป็นแบบเรื้อรัง ซึ่งยาอาจใช้ไม่ได้ผล และจำเป็นต้องพึ่งการผ่าตัด

เกี่ยวกับหน้าอก
ถ้าสุนัขไอ หายใจเร็ว และหอบ แสดงว่า สุนัขเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับช่องอก โดยอาจเป็นได้ทั้งโรคหลอดลมอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ปอดบวม หัวใจ และอื่นๆ ถ้าสุนัขมีอาการไอ จาม ร่วมกับการมีขี้ตา ท้องเสีย เซื่องซึม อาจเป็นอาการของโรคหัดสุนัข (Distemper) ซึ่งถ้าไม่รีบรักษา สุนัขอาจมีอาการแขนขากระตุก หรือเป็นอัมพาต เนื่องจากระบบประสาทถูกทำลาย โรคนี้รักษายาก และค่ายาแพง วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ฉีดวัคซีนป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ

เมื่อสุนัขมีอาการไม่สบายดังกล่าวมาแล้ว ให้รีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์ และระหว่างนั้น ควรทำให้ร่างกายสุนัขอบอุ่นอยู่เสมอ ให้อาหารบำรุงอ่อนๆ อาจเป็นอาหารเหลว หรือน้ำหวานก็ได้ ถ้าสุนัขไม่ยอมกินอาหาร ให้ใช้ช้อนตักอาหารป้อน ทีละน้อย

เกี่ยวกับกระเพาะ และลำไส้
อาการที่แสดงให้เห็นว่า สุนัขเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะ และลำไส้ คือ อาเจียน ท้องเสีย ท้องผูก ถ่ายออกมามีเลือดปน

อาการอาเจียนอาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ ถ้านานๆ เป็นสักครั้ง ก็ถือว่า เป็นเรื่องธรรมดาของสุนัข แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ ควรนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคต่างๆ เช่น หัดสุนัข ตับอักเสบ เลปโตสไปโรซิส ลำไส้อุดตัน หรือแม้แต่มีพยาธิตัวกลมมากเกินไป การปฐมพยาบาลเบื้องต้นถ้าสุนัขอาเจียน คือ งดอาหารหนัก เปลี่ยนเป็นกลูโคสและน้ำเกลือแร่ โดยให้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรนำไปพบสัตวแพทย์

ท้องเสียอาจเกิดจากอาหารเป็นพิษ หรือแพ้อาหารบางอย่าง เมื่อสุนัขท้องเสียควรงด อาหารหนัก นม และอาหารที่มีไขมันสูง เปลี่ยนเป็นกลูโคส หรือน้ำเกลือแร่แทน ควรทำให้ร่างกายสุนัขอบอุ่น ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือสุนัขเริ่มซึม ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์

อาการท้องผูกอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อสุนัขมีอายุมากขึ้น หรืออาจเกิดจากอาหารไดเอ็ท ที่ทำจากเศษกระดูก ทำให้เกิดการอุดตันในกระเพาะ การรักษาอาการสุนัขท้องผูก อาจเริ่มจากการให้น้ำมันเกลือแร่ 1-2 ช้อนโต๊ะ แต่ถ้าทราบแน่ๆ ว่า

การท้องผูกเกิดจาก เศษกระดูกอุดตันในท้อง อาจต้องใช้วิธีสวนทวาร ถ้าไม่อยากยุ่งยาก พาไปหาหมอ ง่ายที่สุดจ้า

ส่วนอาการถ่ายออกมามีมูกเลือดปน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุเล็กๆ อย่างเศษกระดูกแหลมๆ ไปขีดข่วนแทงกระเพาะ หรือลำไส้ หรือแม้กระทั่งโรคเลปโตสไปโรซิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อคล้ายดีซ่าน ติดต่อถึงคนได้ด้วย ถ้าสุนัขมีอาการแบบนี้ ถ้าเป็น 24 ช.ม. แล้วยังไม่หาย ทางที่ดีพาไปหาหมอดีที่สุด

ระบบปัสสาวะ
อาการเบื้องต้นของการมีปัญหาเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ คือ การฉี่อย่างยากลำบาก สุนัขกินน้ำมาก ฉี่บ่อย หรือมีเลือดปนออกมากับฉี่ น้ำหนักลด และอยากอาหารมากผิดปกติ ถ้าพบสุนัขมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบปรึกษาสัตวแพทย์สถานเดียว เพราะโรคกระเพาะปัสสาวะ อักเสบ นิ่ว หรือโรคไต ล้วนแต่เป็นโรคที่ต้องพึ่งแพทย์ และการรักษาแต่เนิ่นๆ จะทำได้ง่ายกว่า การปล่อยให้โรคร้ายเรื้อรัง

โรคผิวหนัง
ถ้าสุนัขแสดงอาการคันคะเยอ มีผื่นแดง ขนร่วงเป็นหย่อมๆ หรือเป็นแผลแดงแบบเรื้อรัง แสดงว่า สุนัขเริ่มเป็นโรคผิวหนัง โรคผิวหนังมักจะเกิดจากอาการแพ้ ให้ลองสังเกตว่า สุนัขมีเห็บ ไร หมัด หรือไม่ ถ้ามีก็จัดการกำจัดให้เรียบร้อย โดยอาจใช้วิธีดึงออก (ถ้าไม่มากนัก) หรือปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อหาวิธีกำจัดที่ปลอดภัย (สำหรับทั้งคน และสุนัข)

บางครั้งการให้สุนัขไดเอ็ทอาหารอาจเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังได้ เพราะสุนัขได้ สารอาหารไม่ครบ ทำให้ขนร่วง และมีสุขภาพไม่ดี ดังนั้น การจะให้สุนัขไดเอ็ทอาหาร จึงควรศึกษาความต้องการอาหารของสุนัขให้ถ้วนถี่ก่อน แล้วเลือกอาหารให้เหมาะกับสุนัข

อีกสาเหตุที่อาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง คือ อาการแพ้ อันนี้เจ้าของต้องหมั่นสังเกตว่า สุนัขแพ้อะไร เช่น ถ้าสุนัขมักจะเกิดอาการโรคผิวหนังในบางฤดู ก็ต้องสังเกตว่า ช่วงเวลานั้นๆ มีอะไรที่ผิดไปจากช่วงเวลาอื่นๆ ตัวอย่างเช่น สุนัขมักจะมีอาการคันในฤดูหนาว อาจเกิดจากละอองหญ้าที่ปลิวมากับลมหนาว เป็นต้น

โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์
สุนัขตัวผู้อาจเป็นโรคนี้บ้าง เช่น เนื้องอกที่ลูกอัณฑะ แต่พบไม่บ่อยนัก ที่เป็นกันมาก คือ สุนัขตัวเมีย ถ้าสุนัขมีการตกเลือด หรือมีสิ่งผิดปกติขับออกมาทางช่องคลอด เช่น เมือก หรือหนอง อาจเกิดจากการติดเชื้อในมดลูก ต้องรีบพาสุนัขไปพบแพทย์ทันที ปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ถ้าสุนัขเป็นไม่มากนัก หมออาจให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่ถ้าเป็นมากๆ อาจต้องผ่ามดลูกทิ้งจ้า

ที่มา: http://www.thaipom.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น