เซนต์เบอร์นาร์ด

เซนต์เบอร์นาร์ด เป็นสุนัขที่มีขนาดใหญ่ที่สุด น้ำหนักมากที่สุดแต่ใจดีที่สุด ตามสมญานามเรียกขานว่า สุนัขนักบุญ ( SAINT ) มีประวัติความเป็นมาว่า นักบุญเซนต์ เบอร์นาร์ด เดอเมนธอน ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเทือกเขาแอลป์ โดยมีสุนัขคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ติดอยู่ในหิมะ หรือหลงทางหรือนอนหนาวอยู่ท่ามกลางลานหิมะ


สุนัขพวกนี้จมูกไว ดมรู้ว่ามีคนจมอยู่ใต้หิมะแม้จะลึกหลายๆ ฟุต สุนัขจะออกวิ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 ตัว เป็นการวิ่งลาดตระเวนในระหว่างที่เกิดพายุหิมะถล่ม หรือหลังจากที่เกิดพายุหิมะแล้ว เพื่อค้นหาคนเดินทางที่ประสบอันตรายติดอยู่ในกองหิมะ เมื่อพบกับผู้เคราะห์ร้าย สุนัข 2 ตัวจะนอนลงบนหิมะแนบชิดร่างกายของผู้นั้น เพื่อให้ความอบอุ่น และสุนัขอีกตัวหนึ่งจะเลียตามใบหน้าเพื่อช่วยให้มีสติฟื้นคืนมา


ในขณะเดียวกันสุนัขอีกหนึ่งตัวในกลุ่มจะวิ่งย้อนกลับไปยังสถานที่พัก เพื่อแจ้งเหตุร้ายให้นักบวชทราบ และพามายังสถานที่เกิดเหตุ "ถังไม้เล็กๆ" ที่ผูกติดคอมีไว้เพื่อใส่เหล้าหรือยาไว้ให้ผู้ประสบภัยเปิดกินได้ เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และมีผ้าห่มผูกติดหลังเอาไว้เพื่อให้ผู้ประสบภัยห่มกันหนาว


นอกจากนี้สุนัขเซนต์ฯ ยังได้กลับมาตามคนไปช่วยคนจากหลุมหิมะและพากลับมายังที่พักได้ นอกเหนือจากความสามารถในการค้นหาเส้นทางและประสาทในการดมกลิ่น ซึ่งสามารถทำให้ค้นหาร่างของมนุษย์ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้หิมะ สุนัขยังมีชื่อเสียงในการมีสัมผัสที่หกที่เหนือธรรมชาติ ซึ่งทำให้มันทราบว่าพายุหิมะกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว จะมีการรายงานอย่างทันท่วงที โดยที่สุนัขจะเปลี่ยนจุดยืนอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ภายในเวลาไม่กี่อึดใจที่พายุหิมะจะเกิดและถล่มตรงจุดนั้น ซึ่งจะทำให้ร่างถูกฝังอยู่ใต้หิมะ หรือน้ำแข็งหนักหลายตัน


ในครั้งแรกนักบวชได้เลือกเอาสุนัขจากดินแดนใกล้เคียงไปเลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสุนัขพันธุ์โมลอสเชี่ยน ต่อมาก็คือสุนัข "เซนต์เบอร์นาร์ด" นั่นเอง เป็นวีรกรรมที่กล่าวขานกันตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์


ชาวอังกฤษในตอนต้น ค.ศ. 1810 ได้สั่งนำเข้าสุนัขที่ใช้ในสถานที่พักคนเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อเสริมสายเลือดสุนัขพันธุ์มาสตีฟที่มีอยู่ ซึ่งมีการอ้างอิงถึงสายพันธุ์ เป็นเวลาหลายปีที่ถูกเรียกว่า "สุนัขศักดิ์สิทธิ์" ในประเทศเยอรมันนีราวปี ค.ศ. 1828 มีการเสนอให้เรียกชื่อว่า อัล เพนค็อก ในปี ค.ศ. 1833 นักเขียนคนหนึ่งชื่อ ดาร์เนียล วิลสัน ได้พูดถึงสุนัขเป็นครั้งแรกที่เรียกว่า เซนต์ เบอร์นาร์ด แต่จนกระทั่งปี ค.ศ. 1865 ชื่อเซนต์ เบอร์นาร์ดจึงปรากฏขึ้นอย่างแน่ชัด และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 จึงได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ


สุนัขพันธุ์เซนต์ เบอร์นาร์ดประสบกับปัญหาอันเนื่องมาจากสายพันธุ์เริ่มอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก เพราะกันอยู่แต่สายพันธุ์เดียว ( Inbreeding) ประกอบกับโรคภัยไข้เจ็บ นักบุญจึงต้องการให้มีการผสมข้ามพันธุ์ เพื่อเพิ่มขนาดและพลังความแข็งแกร่งใหม่ให้สุนัข จึงเลือกสุนัขพันธุ์ นิวฟาวด์แลนด์ ซึ่งในขณะนั้นมีขนาดใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์เซนต์ เบอร์นาร์ด ผลของการผสมข้ามพันธุ์นี้ ได้ผลเป็นที่พึงปรารถนาในทุกๆ ด้าน และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำลายรูปแบบและลักษณะนิสัยของเซนต์ เบอร์นาร์ดเลย


อย่างไรก็ตาม จากการผสมข้ามพันธุ์ ทำให้ได้สุนัขพันธุ์เซนต์ เบอร์นาร์ดขนยาวขึ้นมาเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้จนถึงปี ค.ศ. 1830 สุนัขเซนต์ เบอร์นาร์ดทั้งหมดมีขนสั้น ปีต่อๆ มาของการผสมพันธุ์ทำให้มีเซนต์ เบอร์นาร์ดเกิดขึ้นอย่างมากมายในหุบเขาของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในประเทศเยอรมันนี ประเทศยุโรปอื่นๆ รวมทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา


มาตราฐานสายพันธุ์
ลักษณะทั่วไป : เป็นสุนัขที่มีพละกำลัง รูปร่างสูงได้สัดส่วน แข็งแร่งและมีมัดกล้ามเนื้อในทุกส่วน ศีรษะแข็งแรง เป็นสุนัขที่มีท่าทางฉลาดเฉลียวมากที่สุด สุนัขที่มีหน้ากากสีดำจะทำให้ดูเข้มขึ้นแต่ไม่ทำให้ลักษณะโดยส่วนรวมเสียไปแต่อย่างใด
อุปนิสัย : ฉลาด ร่าเริง ช่างประจบประแจง สอนง่าย จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาช้านานทั่วทุกมุมโลก
ศีรษะ : มีความแข็งแกร่งมาก มีขนาดใหญ่โตและกว้าง กระดูกแก้มอยู่สูง มีสันกระดูกเหนือตาชัดเจนมาก ผิวหนังที่หน้าผากเหนือตาเป็นรอยย่นจนเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นแนวเส้นเข้าไปรวมที่เส้นกลางศรีษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสุนัขกำลังตื่นตัว รอยย่นจะเห็นได้ชัดมากขึ้น การที่มีรอยย่นมากจนเห็นชัดเกินไปไม่เป็นที่นิยม ความลาดเอียงของกะโหลกศีรษะ มายังจมูกจะหักมุมค่อนข้างมาก


จมูก : จมูกจะสั้นไม่เรียวเล็กตรงปลาย และความลึกในแนวดิ่งที่ฐานของจมูกต้องมากกว่าความยาวของจมูก สันของจมูกไม่โค้งแต่จะเป็นแนวตรง ในสุนัขบางตัวจะหักเล็กน้อย ร่องกลางศรีษะตื้นเห็นได้ชัดเจนและค่อนข้างกว้าง


ปาก : ริมฝีปากไม่บางจนเกินไป แต่จะโค้งอย่างสวยงามมายังขอบด้านล่างและเหลื่อมริมฝีปากล่างเล็กน้อย ริมฝีปากล่างต้องไม่ห้อยมากไป ฟันควรมีความแข็งแรงและสบกันพอดี ลักษณะขากรรไกรล่างสั้น แม้จะพบในสุนัขตัวที่มีความพร้อมสวยงามก็เป็นลักษณะที่ไม่นิยม ถ้าขากรรไกรบนสั้นถือว่าเป็นข้อบกพร่อง ปากที่เป็นสีดำเป็นลักษณะที่ได้รับความนิยม


หู : มีขนาดปานกลาง ตั้งอยู่ในตำแหน่งค่อนข้างสูงที่บริเวณฐาน ห่างจากศีรษะเล็กน้อย แล้วพับงอลงมาด้านข้างแนบอยู่กับศีรษะ ใบหูนิ่มมีลักษณะสามเหลี่ยมปลายมนยาวออกไปเล็กน้อย ทางด้านปลาย ขอบหูด้านหน้าอยู่แนบชิดกับศีรษะ โดยที่ขอบหูด้านหลังอาจอยู่ห่างจากศีรษะเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสุนัขอยู่ในท่าเตรียมพร้อม


ตา : ตั้งอยู่ทางด้านหน้ามากกว่าทางด้านข้าง มีขนาดปานกลาง สีน้ำตาลเข้ม มีแววตาฉลาดและเป็นมิตร มีความลึกปานกลาง เปลือกตาด้านล่างปิดไม่สนิท จึงทำให้เกิดรอยย่นที่มุมตาด้านใน หนังตาที่หย่อนมากเกินไป จนทำให้เห็นต่อมน้ำตาอย่างชัดเจน หรือมีสีแดงมาก เปลือกตาหนาและตามีสีจางเกินไปเป็นลักษณะที่ไม่นิยม


ลำคอ : ชูตั้งสูงและในขณะปฏิบัติหน้าที่ลำคอจะตั้งตรง นอกจากนั้นแล้วจะอยู่ในแนวระนาบ การเชื่อมต่อของศีรษะและคอจะเห็นได้ชัด โดยบริเวณต้นคอมีมัดกล้ามเนื้อมากและด้านข้างมีความกลม ซึ่งทำให้มองเห็นว่าลำคอสั้น จะมีส่วนหนังที่ยื่นลงมาบริเวณใต้คอจนเห็นได้ชัด แต่ถ้าชัดมากเกินไปจะไม่เป็นที่นิยม
หัวไหล่ : กว้างและมีความลาดเอียง มีมัดกล้ามเนื้อมากและมีพละกำลัง ส่วนสูงสุดของไหล่จะมองเห็นได้ชัดเจน


หน้าอก : มีความโค้งมาก ลึกพอประมาณ ไม่ยื่นลงไปต่ำกว่าข้อศอก


หลัง : กว้างมากเป็นแนวเส้นตรงจนถึงสะโพก จากตรงนี้จะค่อยๆ ลาดลงไปจนถึงส่วนท้าย และประสานกลมกลืนกัน จนไม่เน้นร่องรอยเข้าไปยังส่วนโคนหาง ส่วนท้ายของตัวพัฒนาขึ้นมาอย่างดี ขามีมัดกล้ามเนื้อมาก


ท้อง : แยกออกจากส่วนเอวที่มีพละกำลังมากจนเห็นได้ชัด ลอยสูงขึ้นเล็กน้อย


หาง : ใหญ่และยาว มีน้ำหนัก ขณะพักจะห้อยลงม้วนงอเล็กน้อย ในช่วงหนึ่งในสามของหางส่วนปลาย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้อบกพร่องในสุนัขที่มีลักษณะดีหลายตัว หางจะอยู่ในลักษณะปลายงอนเล็กน้อย เพราะฉะนั้นจึงอยู่ในรูปของอักษร " f " ในขณะเคลื่อนไหวหางจะชูขึ้น แต่ไม่ถึงขนาดชูตั้งตรงหรือม้วนหางอยู่เหนือหลัง การที่ปลายหางม้วนลงเล็กน้อยเป็นลักษณะที่ยอมรับได้


ขน : ดก หนาแน่นมาก โดยมีความยาวพอประมาณ ขนหยิกเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับม้วนงอและไม่ยุ่งเป็นกระเซิง ตามปกติที่หลังโดยเฉพาะจากบริเวณส่วนท้ายจนถึงก้นขนจะหยิกมากกว่า เป็นเงื่อนไขที่กำหนดในสุนัขขนสั้น หางจะมีขนเป็นพุ่ม โดยมีขนดกหนาแน่นยาวปานกลาง ขนหางที่หงิกงอไม่เป็นที่นิยม หางที่ขนด้านใดด้านหนึ่งที่เรียกว่า flag tail เป็นข้อบกพร่อง ที่ใบหน้าและหูจะปกคลุมด้วยขนที่สั้นและอ่อนนุ่ม ขนที่ยาวกว่าที่ฐานของหูเป็นที่ยอมรับได้ ขาหน้ามีขนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต้นขาจะมีขนค่อนข้างมาก


สี : ขาวกับแดงหรือแดงกับขาว สีแดงจะมีหลายเฉดสี แถบสีเทากับมีจุดสีขาว สีแดงและสีเหลืองออกน้ำตาลจะมีคุณค่าเท่ากัน รอยแต้ม ( marking ) ที่จำเป็นคือ หน้าอก เท้าและปลายหาง สีแดงขาวและแต้มสีขาว จะเป็นที่นิยมมากถ้ามีสีเดียวหรือไม่มีสีขาวจะไม่นิยม สีอื่นๆ ทั้งหมดถือว่าเป็นข้อบกพร่อง เว้นแต่เฉดสีที่นิยมกันที่มีอยู่ที่ศีรษะและหู ( หน้ากาก )


ขนาด : ตัวผู้สูงอย่างน้อย 27.5 นิ้ว ตัวเมียสูงอย่างน้อย 25.5 นิ้ว
ข้อบกพร่อง : สิ่งต่างๆ ทั้งหมดที่ผิดไปจากมาตรฐาน เช่นหลังคดและหลังยาวไม่ได้สัดส่วน ข้อเท้าขาหลังโค้งงอมากไป ส่วนท้ายของลำตัวเป็นเส้นตรง มีขนขึ้นบริเวณนิ้วเท้า ข้อเท้าแบบวัว และข้อเท้าขาหน้าอ่อนแอ


ขอบคุณ http://www.sanook.com/

สุนัขพันธ์ แจ็ค รัสเซลล์ เทอร์เรีย

แจ็ค รัสเซลล์ได้มีการเพาะพันธุ์สายพันธุ์ขึ้นมาใหม่เมื่อต้นปี ค.ศ. 1800 ในประเทศอังกฤษโดยศาสนจารย์ Jack Russell ซึ่งภายหลังสุนัขพันธุ์ดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า Jack Russell Terrier (JRT) ตามชื่อของท่านศาสนจารย์ นอกจาก Jack Russell Terrier จะมีชื่อตามศาสนจารย์ที่เรียกกันแล้ว ก็ยังมีบางครั้งที่คนมักเรียกก็คือ PARSON JACK RUSSELL



โดยทั่วไปแล้วสุนัขสายพันธุ์กลุ่ม TERRIER จะใช้ในการล่าสัตว์และติดตามเหยื่อไปหลังจากที่เหลือ โดยสุนัขในกลุ่ม HOUND ไล่ต้อนมาก่อนหน้านี้แล้ว


สายพันธุ์ของ Jack Russell Terrier ในอเมริกาและอังกฤษ ขนาดของสุนัขจะอยู่ที่ 10-15 นิ้ว แต่ในออสเตรเลีย Jack Russell Terrier จะถูกแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์คือ Jack Russell จะมีขนาด 10-12 นิ้ว PARSON JACK RUSSELL ขนาด 12-14 นิ้ว ลักษณะขนของ Jack Russell Terrier มีด้วยกัน 3 แบบ คือ ขนสั้น ขนหัก และขนยาว ขนหักและขนยาวจะค่อนข้างหยาบเมื่อเทียบกับขนสั้น แต่ขนสั้นก็ไม่ควรจะอ่อนนุ่มและเป็นมันจนเกินไป เนื่องจากขนเหล่านี้ช่วยปกป้องสุนัขในเวลาที่ออกไปล่าสัตว์


ขน ขนควรจะมีสีขาวตั้งแต่ 51% หรือมากกว่าขึ้นไปในร่างกาย และมี MARKINGS เป็นสีน้ำตาลหรือดำ หรือทั้งน้ำตาลและดำ ซึ่งเรียกว่า TRI COLOURED MARKING ของสุนัขพันธุ์นี้ส่วนใหญ่จะพบที่บนใบหน้า รอบตา หู ที่ก้นถึงหางและเล็กน้อยบนลำตัว


ลักษณะทั่วไป ในการเลือก Jack Russell Terrier คือควรจะมีกะโหลกโต หูต้องเป็นรูปตัว V และตกไปทางด้านหน้า จมูกและริมฝีปากต้องมีสีดำ ตาควรเป็นสีน้ำตาลเข้มรูปถั่วอัลมอนด์ แฝงด้วยแววตาขี้เล่นและขี้สงสัย ขาต้องตรงและมีกล้ามเนื้อที่ต้นขา หางต้องสั้นและชี้ขึ้น


ผู้ที่ต้องการเลี้ยง Jack Russell Terrier ควรมีคุณสมบัติดังนี้


1. Jack Russell Terrier เป็นสุนัขตื่นตัวตลอดเวลา มันควรได้รับการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรอยู่ในความควบคุมดูแลและควรได้รับการฝึกสอนจากเจ้าของหรือฝึก
2. Jack Russell Terrier เป็นสุนัขที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลและเวลาจากเจ้าของอย่างมาก เนื่องจากเป็นสุนัขที่ชอบเข้าสังคมและขี้เล่น
3. ผู้เลี้ยง Jack Russell Terrier ควรจัดระบบการเลี้ยงให้ถูกต้อง เช่นต้องมีรั้วรอบขอบชิด เพราะ สามารถกระโดดได้สูงมาก รวมถึงปีนป่าย แม้กระทั่งขุดรูเพื่อหนีเที่ยวถ้ามันรู้สึกเบื่อหรืออยากหาอะไรสนุกตื่นเต้นทำ
4. เพื่อความปลอดภัยของสุนัข ผู้เลี้ยง Jack Russell Terrier ควรจะใช้สายจูงตลอดเวลาที่พาไปเดินเล่น เนื่องจาก Jack Russell Terrier เป็นสุนัขที่มีความรวดเร็วและคล่องตัวสูงมาก


ขอบคุณ http://www.sanook.com/

สุนัขพันธ์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์

ดูจากสีขนที่เหลืองเป็นสีทองไปทั้งตัว ประกอบกับใบหน้ากว้างและดูปราดเปรียวแล้ว ลักษณะทุกอย่างของสุนัขพันธุ์นี้ส่อให้เห็นถึงท่าทีอันสุภาพเป็นมิตร สุนัขพันธุ์นี้จึงเป็นที่นิยมไปทั่วทุกมุมโลก รูปร่างอันงดงามของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์นั้นใช่ว่าจะสวยแต่รูปก็หาไม่ ความสามารถของมันนั้นไม่เบา ไม่แพ้พันธุ์เก็บนกชนิดอื่นๆ หรือพวกพันธุ์สแปเนี่ยลตัวเป้งๆ ในระหว่างฤดูหนาวของแคนาดาซึ่งหนาวใช่ย่อย มันก็ยังลุยเก็บนกเป็ดน้ำได้อย่างสบาย


โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขขนาดใหญ่ที่มีความคล่องตัวสูง เป็นสุนัขที่มีความเฉลียวฉลาดมากมากจนสามารถนำมาฝึกเพื่อใช้งานได้ เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีขนาดไม่เล็กหรือไม่ใหญ่จนเกินไป จัดว่าเป็นสุนัขที่มีประสาทสัมผัสดีเลิศทั้งในด้านของการฟังเสียง การดมกลิ่นสะกดรอย นอกจากนี้ยังมีสายตาอันเฉียบคมและแม่นยำ ด้วยเหตุนี้วงการทหารและตำรวจในหลายๆ ประเทศจึงได้นำสุนัขพันธุ์นี้มาฝึกเพื่อไว้ช่วยงานราชการ อาทิเช่น ตรวจค้นยาเสพติด, ดมกลิ่นสะกดรอยคนร้าย, ยามรักษาความปลอดภัย แต่ที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมสูงสุด ก็เห็นจะได้แก่ฝึกให้เป็นสุนัขนำทางคนตาบอด ทั้งนี้เพราะโกลเด้น รีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขซึ่งฉลาด แต่ไม่ค่อยเจ้าเล่ห์หรือซุกซนเหมือนสุนัขบางพันธุ์


เจ้าสีทองพันธุ์นี้ปรากฏขึ้นในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในเมืองอังกฤษในทศวรรษที่ 1860 เป็นสุนัขที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากสุนัขในกลุ่มสแปเนี่ยล ซึ่งเป็นสุนัขที่มีความเชี่ยวชาญทางน้ำเป็นพิเศษ โดยมีขนาดเล็กกว่าสุนัขพันธุ์นิวฟาวน์แลนด์ แต่มีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน สันนิษฐานว่าอาจผสมข้ามพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ไอริชเซทเทอร์ และสุนัขในกลุ่มวอเตอร์สแปเนี่ยล โดยอาจมีสายเลือดของสุนัขพันธุ์บลัดฮาวน์เข้าไปเจือปนอยู่ด้วย


ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์หรือที่บางคนเรียก เยลโล่ รีทรีฟเวอร์ ( YELLOW RETRIEVER ) ก็เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในประเทศอังกฤษ จนในปี ค.ศ. 1908 ก็ได้จัดให้มีการประกวดสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่คริสตัลพาเลซ และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการจัดตั้งชมรมสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ


สำหรับในสหรัฐอเมริกา โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในราวปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลี้ยงโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ไว้เพื่อเป็นนักล่า แม้ทางสมาคม AKC ของสหรัฐอเมริกาจะให้การรับรองสุนัขพันธุ์นี้เข้าไว้ในทำเนียบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยได้รับจากผู้เลี้ยงที่คิดอยากจะส่งสุนัขเข้าประกวดซักเท่าไหร่ เนื่องจากผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับประสิทธิภาพของการใช้งานมากกว่าการประกวด และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1977 ทางสมาคม AKC ก็ได้จัดให้มีการประกวดความสามารถและความฉลาดแสนรู้ของสุนัข ซึ่งผลปรากฏว่าสุนัขที่ได้รางวัลที่ 1-3 ล้วนเป็นสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ทั้งสิ้น จากผลการประกวดในครั้งนั้นทำให้ชาวอเมริกันเริ่มเกิดความตื่นตัว และหันมาให้ความสนใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้มากขึ้น


สำหรับในด้านของสายพันธุ์ ในยุคสมัยแรกๆ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์จะมีสีเฉพาะสีทองหรือสีน้ำตาลออกไปทางเหลือง ( ซึ่งก็มีด้วยกันหลายเฉด ) แต่พอมาในช่วงหลังๆ ก็ได้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีขนสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลไหม้ ซึ่งสีนี้ก็เป็นสีที่นิยมมากพอสมควรทั้งในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเป็นสีที่แปลกใหม่


มาตราฐานสายพันธุ์
ลักษณะทั่วไป : โครงสร้างได้สัดส่วน และดูแข็งแกร่งทรงพลัง เป็นสุนัขที่มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะ
เป็นสุนัขที่มีนิสัยค่อนข้างจะเป็นมิตรกับทุกๆ คน ดังนั้นจึงสามารถพาไปไหนมาไหนโดยไม่สร้างปัญหา มีความเฉลียวฉลาด ว่านอนสอนง่าย เป็นสุนัขที่มีความปราดเปรียวและอดทน ลีลาในการย่างก้าวหรือไหวเป็นไปด้วยความนิ่มนวล


อุปนิสัย : มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะ


ศีรษะ : กะโหลกใหญ่และกว้างโค้งได้รูปสวยงาม ไม่หยักเป็นร่องลึกหรือโหนกนูนจนมีลักษณะเป็นรูปโดม ช่วงรอยเชื่อมระหว่างจมูก ปาก และหน้าผาก มีความลาดเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับหัก หรือเชื่อมต่อเป็นเส้นตรงเดียวกัน ใบหน้าลึกและกว้างขนาดพอๆ กับศีรษะ, สันจมูก, ปาก เป็นเส้นตรงเวลามองจากด้านข้างปลายจมูก ปากค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นรับกับขนาดของกะโหลกศีรษะ ลักษณะรูปทรงคล้ายลิ่มแลดูแข็งแกร่ง หนังย่นบริเวณหน้าผากอนุโลมให้มีได้ แต่ลักษณะของใบหน้าที่สวยงาม หนังบริเวณใบหน้าควรจะเรียบตึง


ฟัน : ต้องขบกันได้แนบสนิทเหมือนกรรไกร โดยฟันด้านหน้าแถวบนขบเกยอยู่ด้านนอก ซึ่งลักษณะของฟันสำหรับสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีหน้าที่ในการเก็บหรือคาบเหยื่อ ดังนั้นอำนาจในการขบกัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสุนัขมีฟันหน้าชุดบนและชุดล่างขบเสมอกันพอดีเหมือนประตูลิฟท์ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ยังพออนุโลมผ่อนผันให้ได้ เว้นแต่ฟันหน้าชุดล่างขบเกยอยู่ด้านนอก หรือฟันหน้าชุดบนและล่างขบเกยไม่สนิทกันถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง ถ้าฟันมีคราบหินปูนเกาะ ฟันผุ หรือฟันมีลักษณะเว้าแหว่งถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นกัน


จมูก : จะต้องเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล ส่วนจะเข้มหรืออ่อนก็ขึ้นอยู่กับสีขน แต่ถ้าจมูกเป็นสีชมพูถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง


หู : หูควรสั้นพอประมาณ ใบหูมีลักษณะห้อยปกลงแนบกับส่วนแก้ม รูปทรงค่อนไปทางรูปสามเหลี่ยม ปลายมน เวลาดึงใบหูไปด้านหน้าความยาวของใบหู หูควรปกคลุมลูกตาได้พอดี แต่ถ้าหากฐานใบหูตั้งอยู่ในตำแหน่งต่ำเกินไป หรือหูมีลักษณะเหมือนสุนัขในกลุ่มฮาวน์ หรือดัชชุน ถือเป็นข้อบกพร่อง


ลำคอ : ควรยาวพอประมาณ ลำคอควรตั้งบนหัวไหล่ แลดูมั่นคงกล้ามเนื้อแลเห็นเด่นชัด ขนบริเวณรอบคอห้ามมีการตกแต่ง คอต้องไม่มีเหนียงยื่นโผล่ออกมา


ลำตัว : โครงสร้างลำตัวกระชับได้สัดส่วน อกลึกและกว้าง ความกว้างของอกอย่างน้อยควรมีขนาดพอๆ กับ ฝ่ามือของผู้ชายวางทาบเสมอพอดี ส่วนความลึกของอกควรลึกเสมอข้อศอกขาหน้า กระดูกซี่โครงควรโค้งได้รูปแข็งแรง โดยส่วนแผ่นหลังจะแลดูหนากว่าใต้ท้อง ลำตัวเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีความลึกและหนาแลดูบึกบึน แผ่นหลังเรียบตรง โดยมีลักษณะลาดเทจากหัวไหล่ ไปทางบั้นท้ายเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นเวลายืนนิ่งๆ หรือกำลังเคลื่อนไหว โกลเด้น รีทรีฟเวอร์มีหน้าอกเล็กแคบ อกตื้น เส้นหลังแอ่นหรือลาดเทมากเกินไป หรือก้นโด่ง ลำตัวบอบบางเกินไป เวลาเคลื่อนไหวเส้นหลังแกว่ง แลดูขาดความแข็งแกร่งล้วนเป็นข้อบกพร่อง


อุ้งเท้า : มีขนาดปานกลาง เป็นรูปทรงกลม อุ้งเท้ากระชับ นิ้งเท้าไม่กางแบะออกเหมือนตีนเป็ด ขนบริเวณใต้อุ้งเท้าควรได้รับการขลิบออก เพื่อช่วยให้การยึดเกาะมั่นคงยิ่งขึ้น นิ้วติ่งขาหน้าควรกำจัดออกให้หมด แต่โดยปกติจะไม่ค่อยปรากฏนิ้งติ่งให้เห็น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เวอร์ที่มีอุ้งเท้าแบะหรืออุ้งเท้าแหลมคล้ายอุ้งเท้าของกระต่าย ถือเป็นข้อบกพร่อง


หาง : ควรตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดต่อจากเส้นหลัง หางมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณโคนหางควรจะมีกล้ามเนื้อ ปกติหางจะมีลักษณะห้อยลงต่ำโค้งได้รูปกับสะโพก ความยาวของหางพอๆ กับมุมข้อศอกขาหลัง ในยามที่สุนัขที่ดีใจหางจะโบกสะบัดไปมา บางครั้งอาจงอม้วนขึ้นสูงเหนือระดับแผ่นหลัง


ลำตัวหน้า : เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีขนาดเหมาะสมรับกับลำตัวส่วนหลังขณะที่เดินหรือวิ่ง การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ การก้างย่างของขาอยู่ในแนวเดียวกับรัศมีของหัวไหล่ กระดูกขามีขนาดค่อนข้างใหญ่และเหยียดตรง กระดูกข้อเท้าสั้นและแข็งแรง มีความลาดเอียงเพียงเล็กน้อย


ลำตัวหลัง : หนาและแข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ บั้นท้ายมีลักษณะลาดเทเล็กน้อย กระดูกขาท่อนบนทอดไปทางด้านหลัง ส่วนกระดูกขาท่อนล่างเหยียดตรงทำมุมฉากกับพื้น โดยขาท่อนล่าง(แข้ง)ยิ่งมีขนาดสั้นเท่าไหร่ย


ขน : ขนดกแน่น สามารถปกป้องน้ำได้เป็นอย่างดี ขนมี 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะยาวและมีลักษณะค่อนข้างแข็ง แต่ไม่ถึงกับหยาบกระด้าง เส้นขนมีความยืดหยุ่นในตัว ถ้าหากขนมีลักษณะเส้นเล็กหรือไม่ดกแน่นถือเป็นข้อบกพร่อง ลักษณะของขนที่ถูกต้องจะต้องขึ้นแนบติดลำตัว ส่วนเส้นขนจะเหยียดตรงหรือหยักศกเล็กน้อยไม่เป็นข้อบกพร่อง สำหรับขนบริเวณด้านหลังของขาและใต้ท้องจะมีลักษณะค่อนข้างอ่อนนุ่มกว่าขนตามลำตัว โดยเฉพาะขนที่บริเวณใต้คอ ด้านหลังของต้นขาหลัง และขนใต้หาง จะมีลักษณะอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ส่วนขนบริเวณศีรษะ ด้านหน้าของขา(หน้าแข้ง) และเท้าจะมีลักษณะสั้นและเรียบ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีเส้นขนยาวจนเกินไป ขนฟูเป็นกระเซิงไม่แนบติดกับลำตัว หรือมีขนเบาบางไม่ดกแน่น ขนเส้นเล็กล้วนถือเป็นข้อบกพร่อง การตัดแต่งขนจะตัดเฉพาะอุ้งเท้าเท่านั้น


สี : สีต้องเป็นสีน้ำตาลออกทอง ส่วนจะมีสีเข้มอ่อนไม่มีปัญหา ขนตามใบหน้าและลำตัวอาจจะมีเหลือบเทาหรือขาวก็ได้ แต่ถ้าเป็นรอยแต้มด่างสีขาว หรือมีขนสีขาวขึ้นแซมถือเป็นข้อบกพร่อง ยกเว้นโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีขนสีทองอ่อน ซึ่งมีสีจืดหรือจางมากๆ และสีขาวด่างที่ปรากฏแลดูกลมกลืนกับสีขน ก็ถือเป็นข้ออนุโลม และถ้าหากพื้นที่ของสีขนส่วนใหญ่มีสีซีดจางเกินไป หรือเข้มมากเกินไปก็ถือว่าเป็นข้อบกพร่อง พูดง่ายๆ ก็คือ ถามีขนออกไปทางโทนสีครีมอ่อนๆ หรือสีน้ำตาลไหม้ ขนส่วนนี้จะต้องมีพื้นที่เป็นเพียงส่วนน้อยของขนทั้งหมด คือจะต้องมีโทนสีเข้มกว่าหรืออ่อนกว่ามาช่วยเสริม และสีขนส่วนที่จะมาช่วยเสริมต้องครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า โกลเด้น รีทรีฟเวอร์บางสายพันธุ์ขณะที่ยังเป็นลูกสุนัขอาจจะมีสีซีดจาง แต่เมื่อโตขึ้นสีก็จะเข้มขึ้นโดยธรรมชาติ สำหรับโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีสีอ่อน นอกเหนือจากที่กล่าวมาล้วนถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง


การเคลื่อนไหว : การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ แลดูนุ่มนวลแต่ทรงพลังและสง่างาม เวลาที่วิ่ง ระยะการย่างก้าวของขาหน้าและขาหลังจะต้องมาบรรจบกันที่กึ่งกลางลำตัว เวลาเดินหรือวิ่งขาต้องไม่แกว่งหรือปัด ซึ่งในการประกวดการเคลื่อนไหวของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก


ขนาด : เพศผู้ควรมีความสูงระหว่าง 23-24 นิ้ว(ความสูงวัดที่หัวไหล่ขาหน้า) ส่วนเพศเมียควรมีความสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 21-22 นิ้ว หากความสูงน้อยกว่าหรือมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 1 นิ้ว ถือเป็นข้ออนุโลม แต่ถ้าสูงหรือเตี้ยกว่าเกิน 1 นิ้ว จากเกณฑ์มาตรฐานถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงมาก สำหรับความยาวของลำตัวโดยวัดจากหน้าอกถึงบั้นท้าย ควรมีสัดส่วนความยาวมากกว่าความสูงเล็กน้อย คือ สัดส่วน 12 :11 ส่วนน้ำหนักของสุนัขเพศผู้ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 65-75 ปอนด์ สำหรับเพศเมีย 55-56 ปอนด์


อารมณ์ : ควรมีความเป็นมิตรกับทุกๆ คน ไม่มีนิสัยขี้หวาดระแวงและดูน่าเชื่อไว้วางใจได้ ไม่มีนิสัยก้าวร้าวดุร้าย แต่ก็ไม่ขี้ขลาดตาขาวด้วย


ขอบคุณ  http://www.sanook.com/